อาคารเสนาสนะ ของ วัดสระบัว (กรุงเทพมหานคร)

สถาปัตยกรรมโดยรวมเป็นแบบช่างหลวงผสมศิลปะออกแบบช่างพื้นบ้าน[2]

อุโบสถหลังเก่าสร้างในปี พ.ศ. 2415 น่าจะช่วงเดียวกับที่ท่านผู้หญิงจันทร์บูรณะวัด เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มี 2 ชั้น มีขนาด 5 ห้อง มีมุขหน้าและหลัง หลังคาซ้อน 3 ชั้น หน้าบันด้านตะวันตกประดับรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีซุ้มประตูหน้าต่างเป็นซุ้มยอดปราสาท ภายนอกอุโบสถมีใบเสมาเก่าตั้งอยู่ เป็นหินแกะสลัก รูปทรงค่อนข้างเตี้ย ปลายเป็นกระหนกตวัดงอนขึ้น มีดอกไม้ประดับที่ยอดและตรงกลาง เป็นทรงของเสมาโหลที่นิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธชินราชจำลอง มีรูปพระอัครสาวกยืนพนมมืออยู่ 2 ข้าง บนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 2 องค์ที่ด้านซ้ายและขวา มีจิตรกรรมฝาผนัง ผนังสกัดหน้าหรือผนังตรงข้ามพระประธานเขียนภาพมารผจญ ผนังสกัดหลังเขียนภาพเขาพระสุเมรุ ผนังแปหรือผนังด้านยาวตอนบนเขียนภาพเทพชุมนุมนั่งเรียงกันเป็นแถว ผนังระหว่างช่องประตูหน้าต่างเขียนภาพทศชาติชาดก

นอกกำแพงแก้วอุโบสถด้านทิศเหนือ มีเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังอยู่องค์หนึ่ง ตั้งอยู่บนฐานบัว มีชุดรองรับองค์ระฆังเป็นมาลัยเถา 2 ชั้นและฐานบัว 1 ชั้น บัลลังก์อยู่ในผังแปดเหลี่ยม ปล้องไฉนเป็นบัวคลุ่มเถาหรือรูปกลับบัวซ้อนกันขึ้นไป

กุฏิหลังคาทรงปั้นหยา มีจารึกว่า "นางสิทธิสาร (อิน มฤคทัต) สร้าง พ.ศ. 2478" ศาลาการเปรียญเป็นอาคารทรงโรง หลังคาเครื่องไม้ประดับเครื่องลำยอง หน้าบันแกะสลักเป็นรูปดอกบัวล้อมรอบด้วยลายเครือเถา[3]